เนื้อหาสนธิสัญญา ของ สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440

สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามและญี่ปุ่น (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between Siam and Japan) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 ฝ่ายญี่ปุ่นนายอินางากิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามเป็นผู้ลงนาม ฝ่ายสยามมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้แทน มีข้อสัญญา 16 ข้อ ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและสยามต่างให้การรับรองสถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation) ของกันและกัน นอกจากนี้ ยังมีพิธีสาร (Protocol) อีกสามข้อ ซึ่งสยามได้มอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น และยินยอมเก็บภาษีสินค้าญี่ปุ่นขาเข้าร้อยละสามเฉกเช่นที่ได้ทำสัญญากับชาติตะวันตกอื่นๆ[2] สนธิสัญญาฉบับนี้ จัดทำขึ้นด้วยภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยให้ยึดเนื้อความในฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก

  1. ประเทศคู่สัญญา (High Contracting Parties) ทั้งสองจะดำรงสัมพันธไมตรีและสันติภาพซึ่งกันและกันตลอดไป จะปกป้องชีวิตทรัพย์สินและให้ความปลอดภัยแก่คนในบังคับของแต่ละประเทศที่พำนักอยู่ในประเทศนั้น
  2. ประเทศคู่สัญญาสามารถแต่งตั้งผู้แทนทางการทูต กงสุลใหญ่ กงสุล รองกงสุล ที่เมืองใดก็ได้ในประเทศของอีกฝ่าย โดยที่จะต้องได้รับอนุญาตจากประเทศเจ้าภาพเสียก่อน และผู้แทนทางการทูตนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์เฉกเช่นทูตจากชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง
  3. คนในบังคับของแต่ละประเทศคู่สัญญา สามารถพักอาศัยทำธุรกิจตั้งร้านค้าพาณิชย์ในประเทศของอีกฝ่ายได้อย่างเสรี โดยมีการเก็บภาษีไม่เกินกว่าที่แต่ละประเทศคู่สัญญาได้เก็บจากชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง
  4. ประเทศคู่สัญญาสามารถทำการพาณิชย์และเดินเรือสำรวจในพื้นที่ดินแดนของกันและกันได้อย่างเสรี ในพื้นที่ที่แต่ละประเทศคู่สัญญาได้เปิดให้แก่ชาวต่างชาติ
  5. คนในบังคับของแต่ละประเทศคู่สัญญา ได้รับสิทธิและได้รับการเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมกับคนในบังคับของประเทศที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง
  6. การเก็บภาษีสินค้าขาเข้าของแต่ละประเทศคู่สัญญา จะต้องเก็บไม่มากไปกว่าที่แต่ละประเทศคู่สัญญาได้จัดเก็บจากประเทศอื่นๆ จะต้องไม่มีการกีดกันทางการค้าใดๆระหว่างประเทศคู่สัญญา ยกเว้นการเป็นไปเพื่อความปลอดภัย หรือสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรและสุขอนามัย
  7. การเก็บภาษีสินค้าขาออกของแต่ละประเทศคู่สัญญา จะต้องเก็บไม่มากไปกว่าที่แต่ละประเทศคู่สัญญาได้จัดเก็บจากประเทศอื่นๆ

พิธีสาร

  1. รัฐบาลสยามยินยอมให้รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งศาลกงสุล (Consular court) ขึ้นในประเทศสยาม ซึ่งศาลกงสุลญี่ปุ่นในสยามนั้นมีอำนาจเหนือชาวญี่ปุ่นทั้งมวลในสยาม (ชาวญี่ปุ่นในสยาม ไม่ขึ้นศาลสยามไม่อยู่ภายใต้กฎหมายสยาม แต่ขึ้นศาลกงสุลญี่ปุ่นภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น เป็นการมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น) จนกว่าเมื่อใดที่สยามสามารถประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และธรรมนูญศาลยุติธรรมได้แล้ว (หากเมื่อสยามได้ปฏิรูปกฎหมายให้มีความสมัยใหม่และประกาศใช้กฎหมายเหล่านั้นแล้ว สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของญี่ปุ่นในสยามจึงจะสิ้นสุดลง)
  2. รัฐบาลสยามเก็บภาษีสินค้าเรือญี่ปุ่นขาเข้าไม่เกินกว่าที่เก็บจากประเทศตะวันตกอื่นๆ (ร้อยละสาม) ข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรระหว่างญี่ปุ่นและสยามสามารถบอกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยสิบสองเดือน
  3. หากเกิดข้อพิพาทใดๆระหว่างญี่ปุ่นและสยาม สงสัยว่าจะละเมิดสนธิสัญญา ให้มีการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Arbitration) ขึ้น เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยความอย่างเป็นมิตรปราศจากความขัดแย้ง และรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะต้องทำตามข้อตัดสินจากอนุญาโตตุลาการนั้น หากไม่สามารถจัดตั้งอนุญาโตตุลาการได้ ให้สรรหาผู้แทนคนกลางเจรจา (Umpire) ขี้นแทน